วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความหมายของการบัญชี การบัญชีการเงิน ภาษีอากร การบัญชีภาษีอากร

            การบัญชี (Accounting)

หมายถึง ศิลปะของการเก็บรวบรวม บันทึก จำแนก และทำสรุปข้อมูลอันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน ผลงานขั้นสุดท้ายของการบัญชีก็คือการให้ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลหลายฝ่าย และผู้ที่สนใจในกิจกรรมของกิจการ

นริศา  ประมวลสุข (2554 : 3) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ว่า การรวบรวมข้อมุลการบัญชี(Accounting)ทางการเงิน การจดบันทึก การจัดประเภทเป็นหมวดหมู่ การเรียบเรียง และดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ เสนอต่อผู้ใช้งบการเงิน ทั้งภายในและภายนอกกิจการ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ

สุพาดา สิริกุตตา (2553 : 1-2) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ว่า ศิลปะของการจดบันทึกการจำแนกให้เป็นหมวดหมู่และการสรุปผลสิ่งสำคัญในรูปตัวเงิน รายการ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน รวมทั้งการแปลความหมายของผลการปฏิบัติดังกล่าวด้วย

ศิรประภา สุขเกษม(2553 : 3) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ว่า การรวบรวม จดบันทึกการจำแนกข้อมูล การสรุปและการวิเคราะห์ทางการเงินประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันโดยนักบัญชี ซึ่งในการรวบรวม การบันทึกและการจำแนกข้อมูลนั้นอาจทำได้ด้วยมือด้วยเครื่องจักรกลในการทำบัญชีและเครื่องคอมพิวเตอร์


การบัญชีการเงิน
คือ การบัญชีที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม จำแนก และรายงานข้อมูลทางการเงิน ของกิจการที่เกิดขึ้นในอดีต ให้กับบุคคลภายนอก ที่ต้องการข้อมูลทางการเงิน
สุกัลยา ปรีชา (2553 : 4-1) ได้ให้ความหมายของการบัญชีการเงินไว้ว่า เป็นการบัญชีที่จัดทำขึ้น เพื่อให้บุคคลภายนอกนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ โดยถือปฎิบัติตามหลักการบัญชีที่รองรับโดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย งบการเงินที่สำคัญ คือ งบกำไรขาดทุนและงบดุลซึ่งงบกำไรขาดทุนจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนงบดุลจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการโดยแสดงให้เห็นถึง สินทรัพย์ หนี้สินและจำนวนเงินทุนในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้ใช้ข้อมูลลักษณะนี้ ได้แก่ เจ้าของกิจการ ผู้ลงทุน เจ้าหนี้ หน่วยงานรัฐบาล ผู้สอบบัญชี
สมเดช โรจน์คุรีเสถียร และคณะ (2552 : 16) ได้ให้ความหมายของการบัญชีการเงินไว้ว่าเป็นการจัดทำบัญชีเพื่อบันทึกรายการจัดทำงบการเงิน แสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อรายงานต่อผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น บุคคลภายนอก
ยุพดี ศิริวรรณ (2553 : 1-1) ได้ให้ความหมายของการบัญชีการเงินไว้ว่า การจัดทำบัญชีและการนำเสนองบการเงินของธุรกิจตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปและมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน

ภาษีอากร
คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร หรืออีกความหมาย คือ เงินได้หรือทรัพยากร ที่เคลื่อนย้ายจากเอกชนไปสู่รัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี เพื่อหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อการกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อการชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบายธุรกิจ และการคลังของรัฐบาล ประเภทภาษีอากร แบ่งเป็นภาษีอากรทางตรง และภาษีทางอ้อม 

การบัญชีภาษีอากร (Tax Accounting)
คือ การนำหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือมาตรฐานการบัญชีมาปรับให้สอดคล้องกับประมวลรัษฎากรและกฎหมายภาษีอากรต่างๆ
เป็นการนำหลักเกณฑ์ทางบัญชี มาตรฐานการบัญชี มาปรับให้เข้ากับประมวลรัษฎากรและกฎหมายภาษีอากรต่างๆ ให้สอดคล้องกันเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีและกฎหมายภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ เงื่อนไขการรับรู้รายได้และรายจ่ายของกิจการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรืออากรแสตมป์ สืบเนื่องมาจากหลักการบัญชี หลายประการที่ขัดแย้งไม่เป็นไปตามกฎหมายภาษีอากรนั่นเอง มักจะพบเห็นกันเมื่อมีการจัดทำบัญชีของธุรกิจในแต่ละรายการค้าแต่ละงวดบัญชีมักจะปรากฏอยู่เสมอว่า หลักในการจัดทำบัญชีไม่เป็นไปตามกฎหมายภาษีอากร ซึ่งผู้จัดทำบัญชีจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรายการค้าที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางภาษีอากรที่ได้กำหนดเอาไว้
                สุดาพา สิริกุตตา (2553 : 1-2 ) ได้ให้ความหมายของการบัญชีภาษีอากรว่า  หมายถึง การนำกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีมาปรับให้เข้ากับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่ายและหลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สิน หนี้สิน ตามกฎหมายภาษีอากร เพื่อจะได้ทราบถึงผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นการบัญชีภาษีอากรจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีแต่เป็นการนำกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีมาปรับให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร โดยกรอกลงในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.50
                ส้มไทย ศิริเมร์ (2549 : 4) ได้ให้ความหมายของการบัญชีภาษีอากรไว้ว่า หมายถึง การปรับปรุงข้อมูลของบัญชีการเงินที่จัดทำขึ้นภายใต้หลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ให้อยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากรเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรม
                ยุพดี ศิริวรรณ (2553 : 1-1) ได้ให้ความหมายของภาษีอากรว่า หมายถึงการจัดทำบัญชีของธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีรวมทั้งการจัดทำบัญชีพิเศษ และรายงานภาษีต่างๆตามกฎหมายภาษีอากรกำหนด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องใช้ในการคำนวณภาษีสรรพากร และหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น